วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

เที่ยวไปอิ่มใจไป
 
ได้อ่านบทความนี้จากเว็ปไซด์ดีๆ ที่ชื่อว่าต้นไม้ขี้เหงา ลองดูกันนะคะ การเดินทางของเราจะไม่ใช่แค่เพื่อความสุขของเราคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นความสุขที่เราสามารถแบ่งปันได้ค่ะ



รสชาติของการเดินทางแต่ละครั้ง ไม่ได้ขึ้นกับจุดหมายปลายทางเท่านั้น
บางทีมันก็เริ่มต้นตั้งแต่การจัดกระเป๋าเดินทาง
ทริปไหนยาวนานเกินสัปดาห์ หมายความว่า
เราจำเป็นต้องใช้เสื้อผ้าในปริมาณที่เกินกว่ากระเป๋าเดินทางใบเล็กของเราจะบรรทุกไหว
เราต้องเลือกว่า จะเปลี่ยนกระเป๋าให้ใบใหญ่ขึ้น
หรือจะเอาเสื้อผ้าไปให้น้อยลง แล้วใช้วิธีซักเอา
นักเดินทางจำนวนมากถือคติเหลือดีกว่าขาด
ออกเดินทางแต่ละครั้งก็พกพาอุปกรณ์ทุกอย่างติดตัวไปมากที่สุดเท่าที่ขนไหว
เสื้อผ้าก็มีพอดีวัน (หรือเกินวัน)
นับเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยไร้กังวลมาก
แต่ทริปที่มีเรื่องให้กังวลบ้างก็สนุกไปอีกแบบ
แรกๆ ผมเป็นพวก แบกทุกอย่างไปด้วยเท่าที่จะยัดลงเป้ไหว
พอใส่ชิ้นสุดท้ายหมดก็แทบจะรูปซิปไม่มิด
ไม่รู้ทำไม กระเป๋าเดินทางขากลับมันถึงบวมกว่าขาไปเสมอ ทั้งๆ ที่ของก็เท่าเดิม
นั่นทำให้ผมมักประสบปัญหาการจัดกระเป๋าในขากลับ
แค่เอาของที่แบกไปด้วยกลับให้ครบยังลำบาก
ของฝากนี่ไม่ต้องพูด ถ้าไม่หิ้วพะรุงพะรังกลับมานี่หมดสิทธิ์แน่นอน
พูดถึงของฝาก หลายคนมักนึกถึงสิ่งของที่เราซื้อหากลับมาเป็นที่ระลึก ทั้งที่กินได้และไม่ได้
แต่ในหลายกรณี ของฝากก็เป็นอะไรที่มากกว่านั้น
อย่างเช่น สิ่งที่เราได้รับกลับมาโดยไม่ได้ร้องขอ ได้มาโดยบังเอิญ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
อาจไม่มีมูลค่า แต่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า
การได้รับของฝาก แต่ไม่มีพื้นที่เก็บของฝากกลับ นี่น่าเจ็บใจนะครับ
พอเดินทางมาได้สักพัก ผมก็เรียนรู้อะไรหลายอย่าง
เช่น เราไม่จำเป็นต้องเอาเสื้อผ้าไปครบวันก็ได้
เพราะที่พักส่วนใหญ่มีเครื่องซักผ้าให้ ถึงไม่มีเครื่องซักผ้า เราก็ยังมีมือ และมีแดด
ถ้าซักผ้า 1 ครั้งหมายถึง เราสามารถลดปริมาณเสื้อผ้าลงได้ครึ่งหนึ่ง
ถ้าซัก 2 ครั้ง ก็ลดปริมาณเสื้อผ้าลงได้ 2 ใน 3
กระเป๋าเราจะมีที่ว่างให้เราใส่อะไรไปได้อีกมากมาย
แต่ผมก็ไม่คิดจะเอาอะไรไปเพิ่ม เพราะผมอยากเก็บที่ว่างตรงนั้นไว้ใส่ของฝากกลับมามากกว่า
พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ราวๆ 20 ปีก่อนว่า
เวลาไปเที่ยวเอาของไปครึ่งเป้ก็พอ อีกครึ่งไปหาเอาข้างหน้า
ผมชอบประโยคนี้ ทั้งในความหมายโดยตรง และโดยนัย
ถ้าเป้หมายถึงใจ การเดินทางโดยพกพาความเป็นตัวเองไปครึ่งหนึ่ง
แล้วพร้อมเปิดใจอีกครึ่งให้กับสิ่งใหม่ที่ได้พบ
ถือเป็นวิธีคิดในการเดินทางที่ดี
ไม่ว่าเราจะเป็นนักเดินทางแบบแบกเป้ ลากกระเป๋า หรือเดินตามธง
การพกของไปเต็มเป้ครบครัน หรือการมีใจเต็มดวงจนไม่ต้องการอะไรมาเติมอีกแล้ว
อาจไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบเสมอไป
เป้ของผมเลยมีที่ว่างเกือบครึ่งใบเสมอ
ผมพกที่ว่างไปด้วย แต่นักเดินทางบางส่วนก็ไปหาที่ว่างเอาข้างหน้า
คือโละสัมภาระ ปลดระวางสิ่งของที่ไม่ใช้ไปตลอดการเดินทาง
ทิ้งบ้าง ขายบ้าง บริจาคบ้าง
การเอาไปแต่ไม่เอากลับ เหมือนจะน่าเสียดาย
แต่ถ้ามองดีๆ พวกเขาได้ของกลับมาด้วยเสมอ
เพียงแต่ว่าไม่ใช่ชิ้นเดียวกับที่เอาไปเท่านั้นเอง
ผมเคยนึกตำหนินักเดินทางที่ชอบเอาขนมหรือของเล็กๆ น้อยๆ ไปแจกเด็กๆ ตามแหล่งท่องเที่ยว
ว่าเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ในตัวเด็กให้กลายเป็นนักขอ
เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติก็กรูกันเข้ามาหาเหมือนฝูงปลาสวายว่ายมาขอขนมปัง
แต่ความคิดของผมเปลี่ยนไปเมื่อเห็นโครงการนี้
ซวี จื้อไห่ เป็นเด็กหนุ่มชาวกวางโจว แดนมังกร
เดิมทีเขาเป็นนักเดินทางธรรมดาสามัญที่ชอบเที่ยวท่องไปทั่วประเทศ
เขาพบว่าทิวทัศน์อันงดงามนั้นมักอยู่ในสถานที่อันไกลโพ้นซึ่งค่อนข้างอันตราย
แต่ที่เหล่านั้นก็ยังมีหมู่บ้าน มีเด็ก แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้
เพราะความยากจน และความยากเย็นในการสื่อสารกับโลกภายนอก
เด็กหนุ่มผู้มีฉายาว่า ‘เทวดา’ คนนี้พบว่า
เด็กๆ ในชุมชนอันห่างไกลนั้น ไม่ได้ต้องการแค่หนังสือเรียน
แต่ยังต้องการของอีกหลายอย่าง ร่วมไปถึงอยากพูดคุยกับคนที่มาจากโลกภายนอก
เขาเลยตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรของตัวเองที่ชื่อว่า 1 Kilo More ขึ้นมาเมื่อปี 2004
วัตถุประสงค์ขององค์กรนี้คือ
แก้ปัญหาการศึกษาของเด็กยากจนในพื้นที่อันไกลโพ้นผ่านการเดินทาง
วิธีการนั้นก็ง่ายมาก คือรณรงค์กับนักเดินทางที่กำลังจะไปเที่ยวในพื้นที่อันห่างไกลว่า
ให้นำของจำพวก เครื่องเขียน เครื่องเรียน เครื่องเล่น ตามแต่เราจะชอบ ติดกระเป๋าไป 1 กิโลกรัม
เพื่อบริจาคให้เด็กในโรงเรียนที่พบเจอระหว่างทาง
แบกความปรารถนาดีติดตัวไปเพิ่ม 1 กิโลกรัม เพื่อนำไปส่งต่อ
ไอเดียนี้ไม่ได้เน้นให้คนเอาของไปบริจาคเหมือนองค์กรการกุศลทั่วไป
แต่อยากให้เราเลือกของที่คิดว่าเหมาะควรเพื่อนำไปมอบ
โดยจุดประสงค์หลักไม่ใช่การยื่นของให้แบบการโปรดสัตว์
แต่เป็นการใช้เวลาร่วมกับเด็ก พูดคุย เรียนรู้ร่วมกัน
ความพิเศษอีกอย่างคือการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางแชร์ข้อมูล
ในเว็บไซต์ 1kg.org มีฐานข้อมูลโรงเรียนเกือบ 1,000 แห่ง
นักเดินทางที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการ (โครงการนี้เรียกว่าอาสาสมัคร)
แค่พิมพ์ชื่อจุดหมายปลายทาง เขาก็จะเห็นว่าแถวนั้นมีโรงเรียนอะไรบ้าง
โรงเรียนแต่ละแห่งต้องการอะไร ลงที่อยู่และเบอร์โทรพร้อม
หรือจะเสิร์ชตั้งต้นจากของที่ต้องการบริจาคก็จะเห็นว่า มีโรงเรียนไหนต้องการสิ่งนี้บ้าง
ถ้าอาสาสมัครไปเที่ยวแล้วเจอข้อมูลใหม่ๆ ก็สามารถเอามาอัพเดตลงในฐานข้อมูลได้
ตอนนี้มีคนลงทะเบียนออนไลน์ว่าพร้อมจะเป็นอาสาสมัครแล้ว 20,000 คน
ในจำนวนนี้มีอาสาสมัครที่ออกเดินทางบริจาคอย่างสม่ำเสมอในหลักร้อยคน
ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น
ด้วยพลังของเด็กเหล่านี้ทำให้มีกิจกรรมบริจาคของให้โรงเรียนในเขตห่างไกลเดือนละ 40-50 ครั้ง
องค์กรนี้มีพนักงานประจำ 7 คน
ส่วนใหญ่ลาออกจากงานประจำเพราะต้องการช่วยเหลือคนอื่น หลงรักการเดินทาง
และเคยเจอฉากดราม่าแสนประทับใจ เมื่อนำของไปมอบให้เด็กๆ ตอนเป็นอาสาสมัคร
เมื่อเราเอาของออกจากกระเป๋าไปมอบให้เด็กๆ ก็เท่ากับเราทิ้งน้ำหนักไปได้ 1 กิโลกรัม
แล้วเราก็ได้รับความรู้สึกดีๆ กลับมาเก็บไว้แทนที่ในกระเป๋า
มิตรภาพ ความสุข และความรู้สึกพิเศษเหล่านี้ มองไม่เห็น ชั่งไม่ได้
เลยไม่รู้ว่าหนักกว่า 1 กิโลกรัมหรือเปล่า
ถึงจะหนักกว่าก็ไม่ต้องกลัว เพราะความรู้สึกดีๆ เหล่านี้
แม้ว่าจะหนักแค่ไหนเราก็ไม่ต้องแบก

สนใจท่องเที่ยวไปกับน่านฟ้าเวิร์ลทัวร์ติดต่อได้ที่
E-mail: Nanfahtour@gmail.com
Tel: 087-084-2233

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น