วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลวงพระบาง
 

 
หลวงพระบางในอดีต เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลาวมาช้านาน เนื่องจากเคยเป็นเมืองหลวงที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตหลายพระองค์ ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมในอดีตยังคงปรากฏให้เห็นแม้ในช่วงเวลาปัจจุบัน กาลเวลาที่ผ่านไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนลาวที่นี่มากมายนัก ด้วยเคยเป็นพื้นที่ ที่เข้าถึงได้ยากมาก่อน คนลาวยังโอบอ้อมอารี สุภาพ นิ่มนวลและเป็นมิตร เสน่ห์ของเมืองที่ยากจะหาที่ไหนในโลกมาเทียบได้ หลวงพระบาง เป็นเมืองที่อุดมด้วยสถาปัตยกรรมอันวิจิตรของวัดวาอาราม บ้านเรือนเก่าแก่สไตล์โคโลเนียล สถาปัตยกรรมที่สวยงามมีเสน่ห์ของยคอาณานิคม และการวางผังเมืองที่ฉลาด ซึ่งทำให้เมืองหลวงพระบางกลมกลืนเข้ากับสภาพภูมิประเทศที่ถูกห้อมล้อมด้วยขุนเขาโดยรอบ และการที่เมืองตั้งอยู่ริมสายน้ำโขงและสายน้ำคานที่ไหลมาบรรจบกัน ท่ามกลางทิวทัศน์อันงดงามของป่าเขา การเข้าถึงจากโลกภายนอกในอดีตจึงทำได้ไม่ง่ายนัก ชาวหลวงพระบางจึงยังคงสามารถดำรงขนบธรรมเนียมประเพณีที่เก่าแก่เอาไว้ ความเรียบง่ายของวิถีชีวิต รอยยิ้มที่เป็นมิตรของผู้คน ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีที่ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา ยังเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ที่เมืองเล็กๆแห่งนี้ อีกทั้ง หลวงพระบางยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องของความสวยงามและจำนวนวัดเก่าแก่ที่มีอยู่มากมายมาตั้งแต่สมัยโบราณ รวมถึงการที่ผู้คนยังสามารถดำรงขนบประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามไว้ได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้หลวงพระบางยังเปี่ยมด้วยลมหายใจของเมืองมรดกโลกที่น่าหลงใหลสำหรับผู้มาเยือนเสมอ
หลวงพระบาง หรืออาณาจักรล้านช้างในอดีต ได้รับการแต่งตั้งจากยูเนสโก ให้เป็นเมืองมรดกโลก ด้วยเหตุผลคือมีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย และมีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม และ ชาวหลวงพระบางมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม หลวงพระบาง จึงได้รับการยกย่องและขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก จากองค์การยูเนสโกในเดือน ธันวาคม พ.ศ.2538

ประวัติหลวงพระบาง
ในอดีตหลวงพระบางเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของลาวมาก่อนกรุงเวียงจันทน์ ตั้งแต่เมื่อครั้งอาณาจักรล้านช้าง ประวัติศาสตร์ของลาว มีความเกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า (ตาลีฟู) ที่อยู่ในมณฑลหยุนหนานของจีน ขุนบรมราชาธิราช (พีล้อโก๊ะ) แห่งหนองแสมีโอรส 7 องค์ แยกย้ายไปครองเมืองต่างๆทั่วสุวรรณภูมิ ต่อมาโอรสองค์โตนาม ขุนลอ (โก๊ะล่อฝง) ได้เป็นกษัตริย์แล้วยกทัพมาตีเมืองชวาใน ค.ศ. 757 เปลี่ยนชื่อเมืองชวาเป็นนครเชียงทอง และมีกษัตริย์ครองเมืองเชียงทองสืบมาอีก 22 พระองค์

ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้ม พระองค์ได้รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆของชนเผ่าไท-ลาวในเขตบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำคาน และแม่น้ำอู เพื่อก่อตั้งขึ้นเป็นอาณาจักรล้านช้างในระหว่าง ปี พ.ศ.1896-1916 ณ ดินแดนริมโขง ซึ่งปัจจุบันก็คือบริเวณหลวงพระบาง โดยความช่วยเหลือของกษัตริย์ขอม เนื่องจากมเหสีของเจ้าฟ้างุ้มคือ พระนางแก้วเก็งยา เป็นพระธิดาของกษัตริย์ขอมในขณะนั้น ดินแดนขอมในสมัยนั้น มีการรับนับถือศาสนาพุทธ และคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองแล้ว ในขณะที่ลาวยังคงนับถือผีกันอยู่ ในรัชสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้ม จึงมีการถ่ายทอดและรับเอาศาสนาพุทธเข้ามาแทนการนับถือผี

เชื่อว่า เดิมทีเดียวอาณาจักรล้านช้างมีชื่อเรียกว่า “เมืองชวา” ด้วยมีชาวชวามาอาศัยอยู่มากกว่ากลุ่มอื่น แต่ใน ปี พ.ศ.1900 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เมืองเชียงทอง” จนกระทั่งกษัตริย์ขอมได้พระราชทานพระพุทธรูปองค์หนึ่งชื่อ “พระบาง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสิงหล ให้กับอาณาจักรล้านช้าง เจ้าฟ้างุ้มจึงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “หลวงพระบาง”

ต่อมา ในปี พ.ศ.2088 พระเจ้าโพธิสารราชเจ้าได้โปรดให้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์แทน หลวงพระบางจึงไม่ได้เป็นเมืองหลวงของลาวอีกต่อไป ในช่วงยุคสมัยต่อมา อาณาจักรล้านช้างได้แตกออกเป็น 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างยังคงสืบทอดราชบัลลังก์มาจนถึงยุคสิ้นสุดราชวงศ์ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองสยามในขณะนั้น รวมถึงประเทศเวียดนามและฝรั่งเศส

หลวงพระบาง จึงมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นราชธานีเก่าแก่ มีวัดวาอารามมากมาย มีบ้านเรือนเก่าเป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบโคโลเนียลสไตล์แบบตะวันตก ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ซึ่งไหลมาบรรจบกัน และโอบกอดให้ตัวเมืองอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งชาวหลวงพระบางยังมีบุคลิกที่เป็นมิตร โอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีวิถีชีวิตและประเพณีที่งดงามและยังไม่สุญสลายไปตามกาลเวลา

 
สนใจท่องเที่ยวไปกับน่านฟ้าเวิร์ลทัวร์ติดต่อได้ที่
Tel: 087-084-2233 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น